|
|
|
บ้านเมืองเตาเป็นชุมชนที่มีอายุเก่าแก่มีการบอกเล่าเรื่องราวตำนานและประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านสืบต่อกันมาความว่า บ้านเมืองเตาตั้งก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาแตก 8 ปี คือพ.ศ.2302 ในสมัยพระเจ้าเอกทัศ ผู้ก่อตั้งหมู่บ้านเป็นพวกส่วยมาจากเมืองอัตปือแสนปาง ในครั้งนั้นมีผู้อพยพมา 5 คน คือ ขุนปูม ขุนมะ ขุนกะจะ เชียงศรี เชียงขันธ์ แต่ละคนแยกย้ายไปตั้งบ้านเมืองตามหัวเมืองต่างๆ เช่น ขุนปูมตั้งเมืองแสงสงฆ์ปัจจุบันคือเมืองพุทไธสง ขุนมะตั้งเมืองแปะปัจจุบันคือเมืองบุรีรัมย์ ขุนกะจะตั้งเมืองปะทายปัจจุบันคือเมืองสุรินทร์ เชียงศรีตั้งเมืองเตา และเชียงขันธ์ตั้งเมืองคูขันธ์ปัจจุบันคืออำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีษะเกษ บ้านเมืองเตาก่อนเชียงศรีเข้ามาตั้งถิ่นฐานเดิมชื่อว่าบ้านกุดหวายซึ่งเป็นภาษาเขมร กุดแปลว่าหนองน้ำและหวายแปลว่ามะม่วง เชื่อกันว่าพื้นที่บ้านเมืองเตาเป็นที่อยู่ของกลุ่มคนในวัฒนธรรมเขมร ต่อมากลายเป็นเมืองร้าง เชียงศรีได้เข้ามาตั้งบ้านได้ทำการขุดคลองและสระน้ำรอบบ้านเพื่อป้องกันข้าศึกและเป็นแหล่งน้ำในการทำการเกษตร ในกาลต่อมามีช้างเผือกของพระเจ้าเอกทัศตกมันมาจากอยุธยาเข้ามากินพืชผักของเชียงศรีที่ปลูกไว้ เสนาอำมาตย์เดินทางตามช้างเผือกจากอยุธยาจึงได้หยุดถามเชียงศรีจึงได้บอกพวกอำมาตย์และติดตามไปกับคณะด้วย พอถึงบริเวณห้วยทับทันเชียงศรีจึงจับช้างได้และเหล่าคณะจึงเดินทางกลับมาที่บ้านของเชียงศรีจึงได้ขอให้เชียงศรีเดินทางไปส่งช้างด้วย เชียงศรีได้นำสิ่งของไปถวายพระเจ้าแผ่นดิน มี ตะกุบตะกับ2(เต่า) ละลองละแอง4(กวาง) ละวีละวอนบั้ง5(น้ำผึ้ง) โค้ง3หวายกระบอง3ลืม(ไต้) และได้ผูกเสี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินได้แต่งตั้งให้เชียงศรีเป็นพระศรีนครเตาปกครองบ้านเมืองเตา ตลอดจนหัวเมืองน้อยใหญ่บริเวณใกล้เคียง เชียงศรีได้กลับอยู่ที่ดงแสนตอปลูกพริกและมะเขือ และตีดาบ โดยใช้เหล็ก60 เล่มเกวียนได้ดาบ1 เล่ม โดยตีดาบที่เตาเหล็กบ้านเมืองเตา และได้นำดาบไปถวายพระเจ้าแผ่นดินเพื่อใช้ในการรบ พระเจ้าแผ่นดินเห็นดาบแล้วไม่พอใจจึงโยนดาบลงในสระบัวเกิดเหตุอัศจรรย์มีดอกบัวลอยขาดนับพันดอก มีปลาลอยตายขึ้นมาจากสระทหารที่ลงไปงมดาบได้รับบาดเจ็บจนเสียชีวิต จากนั้นพระศรีนครเตาได้ปกครองบ้านเมืองเรื่อยมา บั้นปลายชีวิตได้ถูกสั่งประหารชีวิตเนื่องจากมีพระราชสาร์นจากพระเจ้าแผ่นดินถึงเจ้าเมืองอุบลแต่ภรรยาของพระศรีนครเตาเปิดตราครั่งออกดู เมื่อไปถึงเจ้าเมืองอุบลไม่ยอมรับ ความถึงพระเจ้าแผ่นดินจึงมีรับสั่งให้ลงโทษประหารพระศรีนครเตา พระศรีนครเตาทราบข่าวจึงหนีไปซ่อนตัวอยู่บ้านไพรขลา อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ และถูกตามจับตัวจึงถูกประหารโดยใช้แผ่กระดาษขนาบคอและใช้ดาบตัดศีรษะพระศรีนครเตาจึงสิ้นใจตายที่นั่น การตายของพระศรีนครเตาทำให้ประชาชนที่เคารพนับถือเสียใจมาก จึงได้สร้างศาลไว้เป็นที่ระลึก พระศรีนครเตาได้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของบ้านเมืองเตาและพื้นที่ใกล้เคียง
จากตำนานเรื่องเชียงศรีเป็นเรื่องราวการตั้งชุมชนและความศักดิ์สิทธิ์ของพระศรีนครเตาซึ่งอธิบายพื้นที่และหลักฐานโบราณคดีที่ปรากฏในพื้นที่ชุมชน เช่น คูเมืองโบราณ แหล่งผลิตโลหะ อุโบสถร้าง รวมไปถึงการเชื่อมโยงกับชุมชนอื่นรอบข้าง ทั้งบ้านไพรขลา บ้านสตึก(อำเภอสตึก) เมืองพุทไธสง เมืองสุรินทร์ เมืองขุขันธ์รวมถึงกรุงศรีอยุธยาที่เป็นราชธานีอีกด้วย
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|